ประวัติหลวงพ่อเอียด วัดไผ่ล้อม จ.อยุธยา ผู้ได้ชื่อว่าคงแก่เรียนและมากเมตตาธรรม
หากเอ่ยชื่อ หลวงพ่อเอียด ขึ้นมาโดยไม่บอกว่าอยู่วัดไหนจังหวัดไหน ชื่อว่าส่วนใหญ่ต้องนึกถึง หลวงพ่อเอียด วัดไผ่ล้อม จ.อยุธยา แทบทั้งนั้น เพราะปัจจุบันชื่อเสียงของท่านเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย จนอาจกล่าวได้ทำนองว่า ถ้างานพุทธาภิเษกงานไหนไม่ได้นิมนต์ หลวงพ่อเอียด วัดไผ่ล้อม จ.อยุธยา ถือเป็นเรื่องผิดสังเกต และอาจเป็นเหตุให้วัตถุมงคลที่จัดสร้างขึ้นมาขาดความน่าเชื่อถือลงไปไม่น้อยก็ได้
เนื่องในโอกาสที่ท่านมีอายุยืนยาวมาจนครบ ๗ รอบหรือ ๘๔ ปี จึงเห็นควรที่จะนำประวัติของ หลวงพ่อเอียด วัดไผ่ล้อม จ.อยุธยา มาเสนอเอาไว้ให้ทราบกัน เพราะผู้อ่านส่วนหนึ่งอาจจะยังไม่เคยรู้จักกระมัง ทั้งๆ ที่ท่านโด่งดังมานานหลายทศวรรษแล้วก็ว่าได้ โดยในลำดับแรกนี้จะกล่าวถึงชีวประวัติก่อนแล้วกัน หลังจากนั้นจึงค่อยว่าเรื่องปฏิปทาและวิชาความรู้ของท่านอีกที
ท่านผู้นี้มีนามเดิมว่า ละเอียด พูลพร เกิดเมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๗๑ ตรงกันวันอาทิตย์ ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๓ ปีมะโรง ณ บ้านหมู่ที่ ๕ ต.สะพานไทย อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา โยมบิดาชื่อ นายผัน พูลพร โดยมารดาชื่อ นางเสงี่ยม พูลพร ซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรมหรือทำนาเป็นหลัก (นอกจากตัวท่านซึ่งเป็นบุตรคนที่ ๖ ของบิดา-มารดา ขอบอกกล่าวเอาไว้ด้วยว่ายังมีพี่น้องร่วมท้องเดียวกันอีก ๗ คน)
ท่านเริ่มต้นการศึกษาที่ ร.ร. วัดไผ่ล้อม ซึ่งถือเป็นโรงเรียนประจำหมู่บ้าน และได้เล่าเรียนเขียนอ่านที่โรงเรียนนี้กระทั่งจบชั้นประถม ๔ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๕ เนื่องจากว่าในสมัยนั้นถือเป็นชั้นสูงสุดของโรงเรียนประชาบาล ด้วยความที่ หลวงพ่อเอียด เป็นผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาแต่ไหนแต่ไร จึงได้บรรพชาเป็นสามเณรหลังจบจากโรงเรียนดังกล่าวได้ไม่นาน โดยมีท่าน พระครูสุนทรวิหารกิจ (หรือ หลวงพ่อตุ้ม ) วัดจันทาราม (หรือ วัดตะโก ) เป็นพระอุปัชฌาย์ และได้ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมตามคตินิยมกับ หลวงพ่อแจ่ม ซึ่งเป็น เจ้าอาวาส วัดไผ่ล้อม อยู่ในสมัยนั้น
ครั้นอายุครบกำหนดได้อุปสมบทเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๑ โดยมี หลวงพ่อตุ้ม องค์เดิมเป็นพระอุปัชฌาย์ ส่วนพระกรรมวาจาจารย์คือ หลวงพ่อ (พระครู) ถนอม วัดใหม่กบเจา และพระอนุสาวนาจารย์คือ หลวงพ่อแม้น (หรือพระสาทรนวกิจ) วัดบางบาล ได้รับการขนานนามฉายาเป็น ภาษามคธ ว่า อินทวํโส ซึ่งอาจแปลความหมายได้ว่า ผู้เป็นเชื้อวงศ์ของพระอินทร์ หรืออะไรทำนองนั้น
หลังจากท่านอุปสมบทแล้วปรากฏว่า มีความก้าวหน้างอกงามไพบูลย์ในสมณเพศเป็นลำดับ คือได้รับแต่งตั้งเป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส วัดไผ่ล้อม (สืบต่อจาก หลวงพ่อแจ่ม) เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๓ และด้วยความเป็นผู้เอาใจต่อตำแหน่งหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสตามพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๗
ด้วยเหตุที่เป็นผู้มีปฏิปทาน่าเลื่อมใส ทั้งยังใส่ใจในการอนุเคราะห์สงเคราะห์ชาวบ้านจนเป็นที่ประจักษ์ ผู้หลักผู้ใหญ่จึงได้แต่งตั้งท่านเป็น รองเจ้าคณะอำเภอ บางบาล เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๑ (ซึ่งในขณะนั้น พระครูอุดมสมาจาร หรือ หลวงพ่อสังข์ วัดน้ำเต้า เป็นเจ้าคณะอำเภอ) กระทั่งท่านผู้นั้นถึงมรณภาพเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๘ (หรือหลังจากที่ หลวงพ่อเอียด เป็นรองฯ อยู่ประมาณ ๗ ปี) จึงต้องรับหน้าที่เป็นผู้รักษาการแทนอยู่เพียงไม่นาน ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะอำเภอเมื่อ พ.ศ.๒๔๑๙ (ซึ่งถือว่าค่อนข้างเร็วมาก)
ส่วนด้านสมณศักดิ์พอสรุปได้ว่า ได้รับพระกรุณาฯ ทรงตั้งเป็น พระครูสัญญาบัตรชั้นตรีที่ พระครูสุนทรยติกิจ เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๐ แต่เพียงปีเดียวเท่านั้นก็ได้รับการเลื่อนขึ้นเป็น พระครูรองเจ้าคณะอำเภอชั้นโท (ในนามเดิม) กระทั่ง พ.ศ.๒๕๒๖ หรือหลังจากนั้นประมาณ ๑๕ ปี ก็มีประกาศมหาเถรสมาคมให้เลื่อนขึ้นเป็น พระครูเจ้าคณะอำเภอชั้นเอก (ในนามที่ว่า) ครั้นต่อมาเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๓ หรือเพียง ๗ ปีเท่านั้น ก็ได้เลื่อนชั้นขึ้นเป็น พระครูเจ้าคณะอำเภอชั้นพิเศษ (ซึ่งถือเป็นชั้นสูงสุดของตำแหน่งนี้) แต่ที่น่ายินดีกว่าครั้งไหนๆ ได้แก่กรณีที่ท่านได้รับ พระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระราชาคณะ (ชั้นสามัญ) ที่ พระสุนทรธรรมานุวัตร เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๖ หรือเมื่อราว ๑๐ กว่าปีที่ผ่านมา
ส่วนเรื่องวิชาความรู้นั้น หลวงพ่อเอียด ได้เล่าให้ พระมหาเป็นหนึ่ง ซึ่งเป็นศิษย์ใกล้ชิดฟังว่า ได้ศึกษาวิทยาคมสาย หลวงปู่ขัน วัดนกกระจาบ จากตำราที่ หลวงพ่อแจ่ม มอบให้ท่าน ยิ่งกว่านั้นยังได้ไปขอเรียนกับ หมอพวง กันนุช ศิษย์ของท่านผู้นั้นซึ่งมีบ้านอยู่ใกล้วัดดังกล่าวอีกต่างหาก นอกจากจะถือเป็นเหลนศิษย์ของ หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า เพราะหลวงพ่อขัน (อาจารย์ของ หลวงพ่อแจ่ม) เป็นลูกศิษย์ของท่านผู้นั้น ยังอาจถือว่าท่านเป็นชั้นหลานศิษย์อีกสายหนึ่งได้ คือในขณะที่ยังเป็นเณรอยู่นั้นท่านมีโอกาสได้รู้จักกับพระภิกษุชรารูปหนึ่ง ซึ่งล่องเรือมาจอดพักอยู่หน้า วัดไผ่ล้อม หลายวัน โดยท่านผู้นั้นได้บอกแก่หลวงพ่อว่า ให้เรียก หลวงตา ดีกว่าเรียกอย่างอื่น เพราะขณะนั้นท่านมีอายุราว ๘๐ ปีเห็นจะได้
ที่น่าสนใจก็คือ ท่านได้เล่าให้ฟังด้วยว่า ชื่อที่บิดา-มารดาตั้งให้คือ โต แต่ไม่ได้บอกรายละเอียดว่าสาเหตุที่ได้ชื่ออย่างนั้นเพราะอะไร ที่ทำให้หลวงพ่อหูผึ่งก็คือ ท่านบอกว่า เคยจำพรรษาอยู่กับ หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ถึง ๑๐ พรรษา และได้วิชาจากท่านผู้นั้นมามากมายหลายอย่างจนยากจะจาระไน แต่ที่อยากให้เณรเรียนสักอย่างได้แก่ ยันต์เฑาะ เพราะศักดิ์สิทธิ์เข้มขลังนัก ทั้งทำไม่ยาก เพียงใช้แป้งเขียนยันต์พร้อมว่าคาถากำกับจนเสร็จพอดี แป้งนี้สามารถนำมาทาตัวให้อยู่ยงคงกระพัน ขนาดบั่นลำตัวเล่นด้วยเลื่อยยังได้ ท่านพูดไปหัวเราะไป แต่หลวงพ่อก็ยังเชื่อถือศรัทธา พระมหาเป็นหนึ่งเล่า
นอกจากเรื่องดังกล่าว ท่านยังเล่าให้ศิษย์รูปนั้นฟังอีกว่า ช่วงที่หลวงตาซึ่งสอนยันต์เฑาะให้มาอาศัยจอดเรืออยู่หน้าวัดนั้น ตัวท่านซึ่งยังเป็นเณรอยู่ได้ลงไปคุยด้วยเป็นประจำ เรื่องที่ทำให้นึกสมเพชก็คือ ช่วงนั้นการขบฉันอัตคัดอย่างมาก และหากจะว่าไปอาจเกี่ยวเนื่องกับเรื่องที่ท่านเป็นพระต่างถิ่นอีกประการหนึ่ง จึงไม่มีใครนำอาหารมาถวาย ทำให้หลวงตารูปนั้นต้องฉันข้าวกับใบหูเสือจิ้มเกลืออยู่เนืองๆ แต่เนื่องจากตัวเองยังเป็นเณรอยู่ จึงไม่รู้จะช่วยเหลือท่านอย่างไร ที่น่าเสียใจอีกอย่างก็คือ หลังจากที่สอนยันต์จนเชี่ยวชาญ ท่านได้ล่องเรือจากไปโดยไม่ได้บอกกล่าวจุดหมายปลายทางให้รู้ตราบจนบัดนี้ แต่ด้วยความที่เลื่อมใสศรัทธาในยันต์เฑาะดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นผลให้ หลวงพ่อเอียด ใช้ยันต์นั้นจารวัตถุมงคลประเภทเนื้อโลหะควบกับยันต์อะมหาอุด ซึ่งเรียนจากตำรา หลวงพ่อขัน ตลอดมา
ไหนๆ ก็ว่าเรื่องการศึกษาของ หลวงพ่อเอียด มาถึงเพียงนี้ เห็นควรที่จะกล่าวให้ตลอดไปเสียเลยดีกว่า เพราะเชื่อว่าคงเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจไม่น้อยเหมือนกัน พระอาจารย์ของท่านอีกรูปหนึ่งได้แก่ หลวงพ่อสังข์ วัดน้ำเต้า ซึ่งกล่าวถึงไปแล้วก่อนหน้านี้ วิชาที่ได้รับการสั่งสอนแนะนำจากท่านผู้นั้นคือ การอ่านและเขียนอักษรขอม ซึ่งถือเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมาก เนื่องจากยันต์ต่างๆ ส่วนใหญ่มักใช้อักษรดังกล่าวเป็นส่วนประกอบแทบทั้งนั้น (ศิษย์ร่วมอาจารย์เดียวกันอีกรูปหนึ่งคือ หลวงพ่อทิม วัดพระขาว ซึ่งเพิ่งมรณภาพจากไปได้ไม่นาน)
รีวิว
ยังไม่มีบทวิจารณ์